วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 3
หลักคำสอนที่สำคัญของคริสต์ศาสนา
“คริสตชนเชื่ออะไร?”

คุณค่าและความหมายแผนการความรอดพ้น ที่พระเจ้าเสด็จลงมาสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษยชาติบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (อาณาจักรของพระเจ้า) โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า คริสตชนโดยเฉพาะบรรดาผู้นำศาสนาคริสต์ในยุคต่าง ๆ ตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญ คือ การรักษาคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าผ่านทางอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งของพวกท่าน ตลอดจนการศึกษาเพื่อความเข้าใจแผนการแห่งความรอดยิ่งขึ้น รวมทั้งการอธิบายคำสอนนั้นในฐานะเป็นข่าวดีแห่งความรอดพ้นแก่มนุษยชาติ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ทั่วโลกในการสร้างความสัมพันธ์ “รู้จักและรัก” เพื่อการบรรลุถึงอาณาจักรพระเจ้า (ความรอดพ้น)

1. พัฒนาการของหลักคำสอน (ข้อเชื่อ) ของศาสนาคริสต์

1.1 ปัญหา

คำสอนของพระเยซู (ผ่านทางอัครสาวกและผู้สืบทอด) เป็นการเผยการแสดงของพระเจ้าที่ไม่ได้เป็นแค่ทฤษฎีหรืออุดมคติของชีวิต (นามธรรม) แต่เป็นการลงสู่ภาคปฏิบัติในชีวิตมนุษย์ที่เป็นรูปธรรม ชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในโลกในบริบทที่แตกต่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับค่านิยมต่าง ๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องของสังคมตามยุคสมัย ส่งผลให้การรักษา การศึกษาและการอธิบายแผนการความรอดต้องประสบกับปัญหาด้านเอกภาพของคำสอน เพราะมีการรักษาและอธิบายคำสอนที่แตกต่างกันจนนำสู่ปัญหาที่ว่า “จริง ๆ แล้วคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าคืออะไรกันแน่?” เพราะในประวัติความเป็นมาของพัฒนาการศาสนาคริสต์ มีการประกาศคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงการพัฒนาคำสอนคริสต์ศาสนาสู่การเป็น “สถาบัน” ที่ประกอบด้วยจำนวนสมาชิกที่หลากหลาย ที่ต้องมีการประยุกต์คำสอนของพระเยซูสู่ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง เพื่อดำเนินตามคำสอนของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ ไม่ผิดหลงหรือออกแนวทางคำสอนของพระเยซูที่สืบเนื่องจากอัครสาวกและผู้สืบทอด

นอกจากนั้น ในประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ ได้เผชิญหน้ากับการถูกท้าทายกับแนวคิดที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับคริสต์ศาสนา รวมถึงการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง (การประกาศสอนความเชื่อที่ไม่ตรงกับแนวทางของผู้นำ/ผู้สืบทอดตำแหน่งของอัครสาวก) และการบิดเบือนคำสอนไปใช้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้บรรดานักวิชาการทางศาสนาตั้งแต่อดีต (บรรดาปิตาจารย์ เป็นต้น) ได้พยายามตอบโต้และนำเสนอคำสอนที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อหลักธรรมของพระเยซู

1.1 วิธีการแก้ปัญหา

นับตั้งแต่ยุคอัครสาวกที่เป็นประจักษ์พยานถึงชีวิต การรับทรมาน การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ที่แต่ละท่านต่างมีประสบการณ์กับพระเยซูคริสตเจ้าโดยตรง ในเบื้องต้นพวกท่านได้ประกาศข่าวดีแห่งความรอดในรูปแบบของการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าแก่กันและกัน ต่อมาภายหลังที่บรรดาอัครสาวกสำนึกถึงการได้รับ “จิตของพระเยซู” (พระจิต/พระวิญญาณบริสุทธิ์) ทำให้พวกท่านสำนึกถึงพินัยกรรมของพระเยซูคริสตเจ้าที่สั่งให้ออกไปประกาศข่าวดีแห่งความรอดไปสู่มนุษยชาติ เมื่ออัครสาวกออกไปประกาศคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งแต่ละท่านต่างมีประสบการณ์ส่วนตัวกับชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า แต่ละท่านต่างมีมุมมองและวิธีการนำเสนอคำสอนในรูปแบบที่ต่างกัน แต่ด้วยความเชื่อศรัทธาในพระเยซูซึ่งเป็น “จุดรวมใจ” ประกอบกับการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะ (Community) ที่สำนึกถึงการประทับอยู่พระเยซูคริสตเจ้าในหมู่พวกท่าน ทำให้บรรดาอัครสาวกมีการพบปะ อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ และเมื่อถึงเวลาที่พวกท่านจะแยกย้ายกันไปประกาศศาสนาไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก พวกท่าน ได้ทำการย่อคำสั่งสอนเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานแห่งความเชื่อคริสตชนสำหรับผู้ที่จะสมัครเข้ามาถือศาสนาของพระเยซู บทคัดย่อนี้เรียกว่า “สัญลักษณ์ของอัครสาวก”

บรรดาผู้สืบทอดตำแหน่งจากอัครสาวกได้ดำเนินการตามแบบอัครสาวกเพื่อรักษาเอกภาพของความเชื่อ และค่อย ๆ พัฒนาสู่การจัดประชุมในรูปแบบของ “สังคายนา” เพื่อการรักษาคำสอนของพระเยซู รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจและการอธิบายคำสอนนั้นแก่มนุษยชาติอย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ อันเป็นธรรมประเพณีของอัครสาวกและผู้สืบทอดและการสั่งสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร

1.3 ผลที่ตามมา

จากประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ ผลสืบเนื่องจากการรักษา การทำความเข้าใจและการอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ ส่งผลสองด้าน คือ

ก. คำสอนศาสนาคริสต์มีระบบ มีโครงสร้างที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ

อาศัยกระบวนการภายในกลุ่มคริสตชน โดยเฉพาะการจัดประชุมในรูปแบบสังคายนา หลาย ๆ ครั้งในประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ ส่งผลให้ศาสนาคริสต์ค่อย ๆ มีหลักความเชื่อที่เป็นระบบ มีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 13 นักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) เป็นบุคคลสำคัญที่เน้นการอธิบายความเชื่อคริสตชนอาศัยหลักเหตุผลและปรัชญาที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น (ปรัชญากรีก – อริสโตเติ้ล) รวมถึงการสนใจต่อการพิจารณาข้อเท็จจริงในสภาวะของสังคมตามยุคสมัย เพื่อการนำเสนอข้อความเชื่อคริสตชนจะได้ทันยุคสมัยกับสถานการณ์ในสังคม

ข. การแยกตัวเป็นนิกายหรือกลุ่มต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนา

จากประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ยุคแรก ๆ เราพบว่าปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการแยกเป็นนิกายหรือกลุ่มต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนา คือ การอธิบายความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้าและสาระคำสอนของพระองค์ มีผลทำให้ศาสนาคริสต์แยกเป็นนิกายหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่างมี “เอกลักษณ์” เกี่ยวกับการอธิบายคำสอนของพระเยซูในรูปแบบและในรายละเอียดที่ต่างกันออกไป

2. หลักคำสอน (ข้อเชื่อ) ที่สำคัญของคริสต์ศาสนา
กลุ่มคริสตชนที่สืบเนื่องจากอัครสาวกได้แสดงออกและถ่ายทอดความเชื่อของตนออกเป็นถ้อยคำสั้นๆ และเป็นเกณฑ์บรรทัดฐานสำหรับ “ผู้มีความเชื่อในคริสต์ศาสนา” ให้ยึดถือไว้นับตั้งแต่เริ่มต้นความเป็นมาของคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะเข้ามารับพิธีล้างบาป จะต้องมีขั้นตอนสำคัญตอนหนึ่งที่เรียกว่า “การประกาศยืนยันความเชื่อคริสตชน” เพระเป็นการสรุปย่อข้อความเชื่อซึ่งคริสตชนทั้งหลายประกาศยืนยัน เราเรียกข้อความเชื่อเหล่านั้นว่า “บทข้าพเจ้าเชื่อ” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ” ซึ่งมีหลายสำนวน แต่มีสองสำนวนที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในคริสต์ศาสนา ได้แก่ สำนวนที่มีชื่อว่า “สัญลักษณ์แห่งอัครสาวก” และสำนวนที่มีชื่อว่า “บทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเช-คอนสแตนติโนเปิล” กล่าวคือ (CCC, 1994: 197)




บทสัญลักษณ์ของอัครสาวก บทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล

ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว
พระบิดาทรงสรรพานุภาพ พระบิดาทรงสรรพานุภาพ
สร้างฟ้าดิน เนรมิตฟ้าดิน ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้

เชื่อถึงพระเอกบุตรเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้า
สวามีของเรา ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า
ทรงบังเกิดจากพระบิดา ก่อนกัปก่อนกัลป์
เป็นพระเป็นเจ้าจากพระเป็นเจ้า
เป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง
เป็นพระเป็นเจ้าแท้จากพระเป็นเจ้าแท้
มิได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติ
เดียวกับพระบิดา
อาศัยพระบุตรนี้ ทุกสิ่งได้เนรมิตขึ้นมา
เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ เพื่อช่วยให้รอดพ้น
พระองค์จึงเสด็จจากสวรรค์
ปฏิสนธิเดชะพระจิต พระองค์ทรงรับเอากายจากพระนางมารีย์พรหม
บังเกิดจากพระนางมารีอาพรหมจารี จารี
รับทรมานสมัยปอนซีโอปิลาโต สมัยปอนทีอัสปีลาส พระองค์ทรงถูกตรึง
ถูกตรึงกางเขน ตายและฝังไว้ กางเขนเพื่อเรา ทรงรับทรมานและถูกฝังไว้
เสด็จลงใต้บาดาล ทรงคืนชีพในวันที่สาม
วันที่สามกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย ตามความในพระคัมภีร์
เสด็จขึ้นสวรรค์ เสด็จขึ้นสวรรค์
ประทับเบื้องขวาพระเป็นเจ้า พระบิดา ประทับเบื้องขวาพระบิดา
ทรงสรรพานุภาพ พระองค์จะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริรุ่งโรจน์
แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย
รัชสมัยของพระองค์จะไม่มีสิ้นสุด

ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระจิต ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระจิตทรงเป็นพระเจ้า ผู้บันดาล
ชีวิต
ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร
ทรงรับสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์
ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร
พระองค์ดำรัสทางประกาศก
พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระศาสนจักร
สหพันธ์นักบุญ เป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจาก
อัครสาวก
ข้าพเจ้าประกาศยืนยันว่ามีศีลล้างบาปหนึ่งเดียว
การยกบาป เพื่อยกบาป
การคืนชีพของเนื้อหนัง ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะคืนชีพ
และชีวิตนิรันดร และคอยชีวิตในภพหน้า
อาแมน อาแมน


จากบทสัญลักษณ์แห่งความเชื่อทั้งสองสำนวนดังกล่าวข้างต้น จึงขอนำเสนอหลักคำสอน (ข้อเชื่อ) ที่สำคัญบางประการตามการอธิบายจากเอกสารคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (Catechism of the Catholic Church) ในที่นี้ไม่ได้เป็นการนำเสนอข้อความเชื่อหรือการอธิบายสัญลักษณ์ของความเชื่อทั้งหมด เพียงแต่นำเสนอเป็นบางประเด็นและเป็นการสรุปสาระเนื้อหาของข้อความเชื่อคริสตชน โดยเน้นการอธิบายข้อความเชื่อตามแนวศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ดังต่อไปนี้

3. แนวทางการอธิบายพระเจ้าองค์เดียว สามพระบุคคล (พระตรีเอกานุภาพ)

ในบทสัญลักษณ์ของความเชื่อทั้งสองสำนวนข้างต้น นำเสนอข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า” (ตามสำนวนสัญลักษณ์ของอัครสาวก) และ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว” (ตามสำนวนบทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล) จึงสรุปหลักการความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าได้ดังนี้ (CCC, 1994: 198 – 231)

3.1 พระเจ้า “เป็นผู้ที่เราเป็น”

บทสัญลักษณ์แห่งความเชื่อทั้งสองสำนวนเริ่มต้นที่ความเชื่อในพระเจ้า เป็นการย้ำว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็น (ดำรงอยู่) เป็นพื้นฐานความเชื่อคริสตชน ในฐานะที่พระเจ้าทรงเป็นการเริ่มต้นและเป้าหมาย (จุดสุดท้าย) ของสรรพสิ่ง ทรงเป็นความความจริงและความรัก

3.1.1 พระเจ้าเป็นความจริง กล่าวคือ พระเจ้าทรงมีอยู่จริงและทุกสิ่งที่ทรงเผยแสดงล้วนเป็นความจริง

3.1.2 พระเจ้าเป็นความรัก กล่าวคือ พระเจ้าทรงสร้างความสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง (โดยเฉพาะมนุษย์) ด้วยพื้นฐานแห่งความรักแบบให้เปล่า ทรงปรารถนาให้สรรพสิ่ง (โดยเฉพาะมนุษย์) บรรลุถึงภาวะที่สมบูรณ์ในพระองค์

3.2 พระเจ้าหนึ่งเดียว สามพระบุคคล (พระตรีเอกภาพ)

การเผยแสดงของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้คริสตชนเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว แต่มีสามพระบุคคล (One God, Three Persons) หมายความว่า

3.2.1 พระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว แต่ทรงเสด็จมาสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ (การเผยแสดง) ในแบบสามพระบุคคล คือ ในฐานะพระบิดา พระบุตรและพระจิต (พระตรีเอกภาพ) กล่าวคือ พระเจ้าทรงมีพระธรรมชาติเดียว (One nature/essence) คือ ทรงเป็นอย่างที่พระองค์เป็น แต่ทรงเสด็จมาสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ในแบบสามพระบุคคล “พระบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด พระบุตรเป็นผู้ที่ได้รับการ พระบุตร (พระเยซูคริสตเจ้า) เป็นผู้ที่ได้รับการให้กำเนิด พระจิตเป็นผู้สืบเนื่องมา” (CCC, 1994: 254) กล่าวคือ พระเจ้าสร้างความสัมพันธ์ในแบบการสร้าง (พระบิดา) การไถ่กู้ (พระบุตร/พระเยซูคริสตเจ้า) และการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (พระจิตเจ้า/พระวิญญาณบริสุทธิ์) (CCC, 1994: 235) ในแผนการแห่งความรอดพ้น

3.2.2 แม้ว่าพระบิดา พระบุตรและพระจิต เป็นพระเจ้าองค์เดียว แต่ทรงเป็นพระตรีเอกภาพ (พระเจ้าองค์เดียว แต่สามพระบุคคล) หมายความว่าทรงไม่ปะปนเรื่องพระบุคคลและไม่แยกสภาวะ เนื่องจากพระบุคคลผู้เป็นพระบิดานั้นอย่างหนึ่ง พระบุคคลผู้เป็นพระบุตรก็อย่างหนึ่ง พระบุคคลผู้เป็นพระจิตก็อย่างหนึ่ง แต่ในการเป็นพระบิดา พระบุตรและพระจิต พระเทวภาพยังคงเป็นหนึ่งเดียว ทรงเท่าเสมอกันและเป็นนิรันดรภาพร่วมกัน (CCC, 1994: 266)

4. หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบิดาและคำสอนที่เกี่ยวเนื่อง

ในบทสัญลักษณ์ของความเชื่อ ได้นำเสนอข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระบิดาว่า “พระบิดาทรงสรรพานุภาพ สร้างฟ้าดิน” (ตามสำนวนสัญลักษณ์ของอัครสาวก) และ “พระบิดาทรงสรรพานุภาพ เนรมิตฟ้าดิน ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้” (ตามสำนวนบทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล) จึงสรุปหลักการความเชื่อบางประการเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระบิดาและคำสอนที่เกี่ยวเนื่องได้ดังนี้ (CCC, 1994: 232 – 421)

4.1 หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบิดา

จากคำสอนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เป็นพื้นฐานให้คริสตชนทราบว่ามีพระเจ้าแต่องค์เดียว ทรงค่อย ๆ เผยแสดงพระองค์เองในฐานะ “บิดา” ที่สุด ชัดเจนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พระเยซูคริสตเจ้าทรงนำเสนอพระเจ้าว่าเป็น “อับบา” หรือ “บิดา” ทรงสอนให้เรียกพระเจ้าว่าบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตาต่อมนุษยชาติในฐานะที่เป็นลูก ๆ ของพระองค์ ทำให้ คริสตชนเชื่อในการเป็นพระบุคคลของ “พระบิดา” ในสองลักษณะสำคัญคือ

4.1.1 พระผู้ทรงสรรพานุภาพ กล่าวคือ

ก. เป็นความสมบูรณ์และนิรันดรภาพ

ข. ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้

ค. อาศัยพระพร (ความรัก) ของพระเจ้า พระองค์ทรงสถาปนามนุษย์ให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความเชื่อมั่นในความรักของพระเจ้า

4.1.2 พระผู้สร้าง กล่าวคือ

ก. ทรงเนรมิตสรรพสิ่งด้วยพระปรีชาญาณและความรัก การสร้างสรรพสิ่งไม่ใช่มาจากภาวะของความจำเป็นหรือความบังเอิญ แต่เกิดจากน้ำพระทัยอิสระของพระเจ้าที่ปรารถนาให้สรรพสิ่งมีส่วนร่วมในการมีอยู่ของพระองค์

ข. ทรงเนรมิตสรรพสิ่งจาก “ความไม่มีอยู่” กล่าวคือ ทรงโปรดให้สรรพสิ่งมีอยู่ในแบบ จากความไม่มีอยู่ไปสู่การมีอยู่ (สรรพสิ่งมีส่วนร่วมในการมีอยู่ของพระเจ้า)

ค. ทรงจัดระบบ ระเบียบของสรรพสิ่งด้วยพระองค์เอง

ง. ทรงเป็นเป้าหมาย (ความสมบูรณ์ของสรรพสิ่ง) โดยทรงสร้างสรรพสิ่งอย่างอิสระในสภาพที่กำลังดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมขั้นสุดท้าย ทรงสร้างสรรพสิ่งและประทานศักยภาพ/พระพร ให้สรรพสิ่งบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยศักยภาพภายในที่พระองค์ประทานให้ในแต่ละสรรพสิ่ง เพื่อให้สรรพสิ่งเป้าหมายที่สมบูรณ์ในพระองค์

4.2 คำสอนที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบิดา

ในบทสัญลักษณ์ของอัครสาวกได้ยืนยันว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ “สร้างฟ้าและดิน” และบทสัญลักษณ์แห่งนิเช-คอนสแตนติโนเปิลได้อธิบายเพิ่มเติมว่าทรง “เนรมิตฟ้าดิน ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้” เป็นการย้ำเตือนว่าทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าโปรดให้สรรพสิ่งมีอยู่ทั้งสิ้น รวมทั้งการมีอยู่ของเทวดา (ทูตสวรรค์) และสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา (สรรพสิ่งทั้งมวลในโลก) โดยเฉพาะมนุษย์ เป็นผลมาจากการสร้างของพระเจ้า ที่ประทานการมีอยู่แก่ทุกสิ่งที่มีอยู่ (ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้)

4.2.1 เทวดามีอยู่ เป็นข้อความเชื่อที่ต้องเชื่อ

มีการอธิบายว่า “เทวดา” หรือทูตสวรรค์ เป็นภาวะที่พระเจ้าสร้างให้เป็นบุคคลเป็นอมตะ เป็นจิตล้วน มีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อมสูงเกินสิ่งสร้างทั้งหลายที่มองเห็นได้ (CCC, 1994: 334 – 336)

ก. เทวดาเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ในแผนการแห่งความรอดต่อสิ่งสร้างทั้งปวง โดยเฉพาะการรับใช้พระเยซูคริสตเจ้าในการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ เพื่อความรอดของมนุษยชาติ

ข. คริสตชนให้ความเคารพต่อเทวดา ในฐานะที่พวกท่านช่วยปกป้องคุ้มครองการดำเนินชีวิตสู่ความรอดพ้น รวมทั้งยังปกป้องคุ้มครองมนุษย์ทุกคน (แต่ละคน) อีกด้วย

4.2.2 สรรพสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าทรงสร้าง

คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลให้ดำรงอยู่ ให้มีลักษณะมั่งคั่ง หลากหลายและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเน้นความเอาใจของพระเจ้าที่ทรงสร้างทุกสิ่งและใส่พระทัยต่อทุกสิ่งด้วยพระองค์เอง ทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากมีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างองค์เดียวกัน เป็นระเบียบเรียบร้อยและสะท้อนถึงความรักของพระเจ้า โดยมีการอธิบายว่า (CCC,1994: 337 – 344)

ก. ทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างมีความดี มีความกลมกลืน ปราศจากความขัดแย้ง มีความจริงและลักษณะเฉพาะของตน พร้อมทั้งเป็นระบบระเบียบตามแบบของตน ทุกสิ่งสะท้อนถึงความรักของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความเคารพต่อความดีเฉพาะตัวของแต่ละสิ่งสร้าง หลีกเลี่ยงการนำสรรพสิ่งไปใช้อย่างไร้ระเบียบ

ข. ทุกสรรพสิ่ง พระเจ้าสร้างให้พึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่ละสิ่งมีความแตกต่าง เพื่อช่วยเสริมกันและกันให้สมบูรณ์

ค. ทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างมีความงดงาม เป็นระเบียบและผสมผสานกลมกลืนกัน เป็นผลจากความหลากหลายและความสัมพันธ์ต่อกัน เป็นกฎธรรมชาติที่ต้องได้รับความเคารพและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับกฎธรรมชาติ (ระบบ ระเบียบและความสมดุลของสรรพสิ่ง)

ง. สรรพสิ่งมีลำดับขั้น (ฐานานุกรมของสิ่งสร้าง) แต่ละสรรพสิ่งมีความซับซ้อนในลำดับขั้นที่ต่างกัน และมนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐสุดที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น

4.2.3 มนุษย์

ศาสนาคริสต์เน้นความสำคัญแก่มนุษย์ว่าเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า (Image of God) “ในฐานะเป็นบุคคลที่รู้จักและควบคุมตนเองได้ อุทิศตนได้อย่างอิสระร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นเพื่อบรรลุถึงพระเจ้า” (CCC,1994: 356)

ก. การมีอยู่ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าเป็นศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของมนุษย์

แม้ว่ามนุษย์มีลักษณะธรรมชาติที่เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไปในฐานะเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า แต่พระศาสนจักรยืนยันศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต่างจากสิ่งอื่น ๆ คือการมีบุคลิกตามฉายาพระเจ้า ทำให้มนุษย์มีลักษณะพิเศษต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป กล่าวคือ มนุษย์เท่านั้นที่สามารถรู้และตอบรับความรักของพระเจ้าได้ มนุษย์เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าจนสามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า มนุษย์แต่ละคนจึงมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นบุคคลตามฉายาของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคริสต์ศาสนาจะเน้นความสำคัญของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง แต่คริสต์ศาสนาก็ยังเน้นว่ามนุษย์สามารถปกครองสิ่งต่าง ๆ ตามแบบพระเจ้า คือ การคงไว้ซึ่งความสมดุลและระเบียบของธรรมชาติโดยรวม

ข. มนุษย์มีธรรมชาติเป็นกายและวิญญาณที่เป็นธรรมชาติเดียว

พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เป็นบุคคลตามฉายาของพระองค์ ให้มีธรรมชาติเป็นทั้งร่างกาย (Corporeal) และจิตวิญญาณ (Spiritual) ร่างกายมนุษย์เป็นสสารซึ่งรวมเอาคุณลักษณะทั้งปวงของสสารไว้ ในขณะที่วิญญาณเป็นจิตอมตะ ทำให้ร่างกายมีชีวิตและสามารถดำรงอยู่ได้แม้เมื่อแยกออกจากร่างกายแล้ว วิญญาณมนุษย์นี่เองที่พระเจ้าให้มีความสามารถที่จะบรรลุสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า โดยกายและวิญญาณของมนุษย์ประกอบกันขึ้นเป็นหนึ่งเดียว (A single nature) (CCC,1992: 362-382)

ค. มนุษย์ในฐานะที่เป็นชายและหญิงมีความแตกต่างและความเสมอภาคกัน

พระเจ้าทรงตั้งพระทัยสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิงซึ่งมีความแตกต่าง (Difference) ในเรื่องเพศ แต่มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน (Equality) ในการเป็นฉายาของพระเจ้า ทั้งสองดำรงอยู่เพื่อกันและกันในลักษณะคนหนึ่งเพื่ออีกคนหนึ่ง (Each for the other) แต่ละคนสามารถเป็นผู้ช่วย (Helpmate) ของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อสานต่อการสร้างของพระเจ้าในการให้กำเนิดชีวิต ทั้งชายและหญิงในฐานะฉายาของพระเจ้า ต่างได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในการปกครองดูแลแผ่นดินในฐานะเป็นฉายาของพระเจ้า

ง. มนุษย์ในฐานะเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างใกล้ชิด : มนุษย์ในสภาวะดั้งเดิมมีพลังที่สามารถบรรลุถึงพระเจ้าได้

มนุษย์ในสภาวะดั้งเดิมที่พระเจ้าทรงสร้าง นอกจากจะเป็นความดีร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงสร้างแล้ว (ทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างล้วนดีทั้งสิ้น) มนุษย์ยังได้รับสภาวะพิเศษที่ต่างจากสิ่งอื่น ๆ เนื่องจากพระเจ้าประทานความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรม (Holiness and justice) แก่มนุษย์

เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นไปตามฉายาของพระองค์ มนุษย์จึงไม่สามารถมีอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้าและดำเนินชีวิตมุ่งสู่พระเจ้าเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต การมุ่งสู่พระเจ้าจึงเป็นเป้าหมายและการกำหนดวิถีชีวิต พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีโดยประทานสติปัญญา ความสำนึกทางศีลธรรม และเสรีภาพ เพื่อให้มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือบรรลุถึงพระองค์ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีเหตุผล โดยประทานศักดิ์ศรีแก่มนุษย์ให้มีความคิดริเริ่มและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เพื่อให้มนุษย์แสวงหาและบรรลุถึงพระเจ้าด้วยความสมัครใจ

จ. มนุษย์พัฒนาศักยภาพสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าโดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งเป็นฉายาของพระเจ้า

แม้มนุษย์มีศักยภาพที่บรรลุถึงความสมบูรณ์ได้ แต่ศักยภาพนี้ต้องได้รับการพัฒนาอาศัยความสัมพันธ์กับคนอื่น มนุษย์มีธรรมชาติที่ต้องดำเนินชีวิตในสังคม กล่าวคือ

1) มนุษย์มีความเท่าเทียมกันและมีความแตกต่างระหว่างบุคคล

มนุษย์เท่าเทียมกันในฐานะเป็นฉายาของพระเจ้า ทุกคนได้รับศักยภาพที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า มนุษย์ทุกคนจึงมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน (Equal dignity) แต่มนุษย์มีความสามารถ (Talent) ที่แตกต่างกัน และความแตกต่างด้านความสามารถนี้เองที่เรียกร้องให้มนุษย์แบ่งปัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน เพื่อพัฒนาชีวิตสู่ความสมบูรณ์ในพระเจ้า

2) มนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคม

มนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การอยู่รวมกันในสังคมจึงต้องมีมนุษย์เป็นทั้งหลักการ (Principle) หัวใจ (Subject) และจุดมุ่งหมาย (End) ในสังคม ดังใน Catechism of the Catholic Church (1994) ข้อ 1879-1924 ที่สรุปได้ว่า

2.1) มนุษย์แต่ละคนเป็นทายาท (Heir) และยอมรับความสามารถ (Talent) ของสังคม โดยสังคมต้องช่วยให้มนุษย์พบอัตลักษณ์และแนวทางการพัฒนาชีวิตของตน

2.2) สังคมต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้สมาชิกแต่ละคนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตอย่างสมบูรณ์และง่ายมากยิ่งขั้น

คริสต์ศาสนามีแนวคิดว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า มนุษย์มีศักยภาพบรรลุถึงพระเจ้าได้ โดยร่วมมือกับพระเจ้าในการพัฒนาคุณค่าชีวิต อาศัยสติปัญญา ความสำนึกทางมโนธรรมและเสรีภาพ โดยดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม แม้มนุษย์จะบกพร่อง พระเจ้าก็ยังทรงเมตตาประทานความช่วยเหลือให้มนุษย์กลับสู่สภาวะที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์





















5. หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบุตรและคำสอนที่เกี่ยวเนื่อง

ในบทสัญลักษณ์ของความเชื่อ ได้นำเสนอข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระบุตรและคำสอนที่เกี่ยวเนื่องว่า “เชื่อถึงพระเอกบุตรเยซูคริสต์ สวามีของเรา ปฏิสนธิเดชะพระจิต บังเกิดจากพระนางมารีอาพรหมจารี รับทรมานสมัยปอนซีโอปิลาโต ถูกตรึงกางเขน ตายและฝังไว้ เสด็จลงใต้บาดาล วันที่สามกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย เสด็จขึ้นสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเป็นเจ้า พระบิดาทรงสรรพานุภาพ แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย” (ตามสำนวนสัญลักษณ์ของอัครสาวก) และ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า ทรงบังเกิดจากพระบิดา ก่อนกัปก่อนกัลป์ เป็นพระเป็นเจ้าจากพระเป็นเจ้า เป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง เป็นพระเป็นเจ้าแท้จากพระเป็นเจ้าแท้ มิได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติ เดียวกับพระบิดา อาศัยพระบุตรนี้ ทุกสิ่งได้เนรมิตขึ้นมา เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ เพื่อช่วยให้รอดพ้น พระองค์จึงเสด็จจากสวรรค์ พระองค์ทรงรับเอากายจากพระนางมารีย์พรหมจารี สมัยปอนทีอัสปีลาส พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา ทรงรับทรมานและถูกฝังไว้ ทรงคืนชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ เสด็จขึ้นสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระบิดา พระองค์จะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย รัชสมัยของพระองค์จะไม่มีสิ้นสุด” (ตามสำนวนบทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล) จึงสรุปหลักการความเชื่อบางประการเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระบุตรและคำสอนที่เกี่ยวเนื่องได้ดังนี้ (CCC,1994: 422 – 682)

5.1 หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบุตร

คริสตชนเชื่อว่าพระบุตรคือ พระเยซู ผู้ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ช่วยให้รอด” ทรงเป็นพระแมสซีอาห์ พระบุตรของพระเจ้า ทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อกอบกู้มนุษยชาติให้กลับสู่สภาวะแห่งการมีความสัมพันธ์ที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า หัวใจของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์คือ การประกาศคำสอนเรื่องพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระคริสตเจ้า (Christ) พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า (The only Son of God) และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า (Lord) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ทรงเป็นพระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ (พระบิดา พระบุตรและพระจิต) ทรงรับสภาวะมนุษย์ทุกอย่างยกเว้น “บาป”

5.1.1 พระเยซูคือพระเจ้าที่เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ (Incarnation)

ก. เป็น “ความรัก” ของพระเจ้า ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดเพื่อช่วยมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์

ข. เป็น “แบบฉบับ” แห่งความรัก “จงรักกันและกัน ดังที่เรารักท่าน” (ยน 13: 34)

ค. ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าในฐานะเป็น “พระเจ้าผู้บังเกิดเป็นมนุษย์” เป็นเครื่องหมายที่เด่นชัดและเป็นพื้นฐานของความเชื่อคริสตชน

ง. การที่พระเจ้าทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นการรับเอาธรรมชาติความเป็นมนุษย์โดยไม่ได้สูญเสียพระธรรมชาติในการเป็นพระเจ้า

5.1.2 พระเยซูเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้

ก. พระเยซูมีธรรมชาติ (สภาวะ) สองอย่าง คือ การเป็นพระเจ้าและการเป็นมนุษย์ ไม่ปะปนกันแต่ร่วมอยู่ในพระบุคคลหนึ่งเดียวแห่งพระบุตรของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเป็นองค์สื่อกลางหนึ่งเดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

ข. พระเยซูเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ จึงทรงมีสติปัญญาและเจตจำนงเยี่ยงมนุษย์ (รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก) ที่ประสานสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์และอยู่ภายใต้อำนาจของพระปัญญาและเจตจำนงแบบพระเจ้า

5.2 คำสอนที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระบุตร

5.2.1 การเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการเผยแสดงความจริงของพระเจ้า

ชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้า คือ การเผยแสดงความจริงของพระเจ้า (พระบิดา) เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า จึงทรงเผยแสดงตัวของพระองค์เองได้ดีที่สุด ดังนั้นการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ทั้งพระวาจา กิจการ พระทรมานและวิธีการดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นการเผยแสดงน้ำพระทัยของพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ ชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์ คือ ธรรมล้ำลึก (Mystery) อันมีจุดหมายอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ดังนั้น ต้องมีการศึกษา ฝึกฝนและบำเพ็ญตนให้สอดคล้องแบบเดียวกับพระองค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า (CCC,1994: 521 – 682)

5.2.2 การบังเกิด การเจริญพระชนมชีพ รับทรมาน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เป็นการสละชีวิตเพื่อมนุษยชาติตามแผนการแห่งความรอดของพระเจ้า

การเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า รวมทั้งการดำรงพระชนมชีพและการปฏิบัติภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าตามแผนการแห่งความรอด (การประกาศข่าวดีแห่งความรอด การรับทรมาน การสิ้นพระชนม์) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตามแผนการแห่งความรอดที่พระเจ้าเสด็จลงมาสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษยชาติให้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ กล่าวคือ

ก. พระเยซูคริสตเจ้า คือ การที่พระเจ้าช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น

แม้ผลของบาปจะทำให้ธรรมชาติของมนุษย์บกพร่อง แต่พันธสัญญาเดิมก็ย้ำถึงพระเมตตาและการช่วยเหลือของพระเจ้า ที่พระองค์จะทรงกอบกู้ธรรมชาติมนุษย์ที่เสียไปให้กลับคืนมาดีดังเดิม แม้มนุษย์จะปฏิเสธพระเจ้า แต่พระองค์ยังประทานความหวังว่า จะทรงช่วยมนุษย์ให้กลับคืนสู่การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พันธสัญญาเดิมค่อย ๆ เผยแสดงถึงแผนการช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากบาป อันเป็นการตระเตรียมและเป็นพื้นฐานสำหรับพระสัญญาที่ชัดเจนในพันธสัญญาใหม่ นั่นคือ การช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากบาปผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงยอมทนทุกข์และสิ้นพระชนม์อย่างทรมาน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความผิด ความทรมานและความตายนี้เป็นการไถ่โทษมนุษย์ให้พ้นจากบาป พระเยซูคริสตเจ้านี่เองที่เผยแสดงพระเจ้าให้มนุษย์ได้รู้จัก และ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงนำพระเจ้ามาสู่ตัวมนุษย์แต่ละคน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้ากลับคืนดีดังเดิม อันมีผลทำให้มนุษย์มีสิทธิและศักดิ์ศรีจนสามารถบรรลุถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

ข. ความตายของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นการตายเพื่อชดเชยบาป เพื่อทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้า

ตามปกติเมื่อมีการทำผิด ก็ย่อมต้องมีการชดเชยความผิด อาจเป็นในรูปแบบของการถูกลงโทษหรือการชดเชย และเมื่อมนุษย์ทำบาปโดยใช้เสรีภาพเลือกตนเองแทนที่จะเลือกพระเจ้า มนุษย์ต้องรับผลของการกระทำของตน คือการขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้า มนุษย์ทำบาปเป็นการตัดสัมพันธ์กับพระเจ้า จำเป็นต้องรับโทษดังกล่าวมา อย่างไรก็ตาม ในพันธสัญญาเดิมบอกเราให้ทราบถึงพระเมตตาของพระเจ้าที่ทำพระสัญญากับมนุษย์ว่าจะทรงกอบกู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากโทษ (ความตาย) ที่มนุษย์ต้องได้รับ และพระสัญญานี้ เป็นจริงในพระเยซูคริสตเจ้า

จากพันธสัญญาเดิม ในหนังสืออิสยาห์ (อสย 52: 13–53: 12) เล่าถึง “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ที่ถูกทอดทิ้ง ถูกสบประมาท ถูกตัดสินลงโทษอย่างอยุติธรรมและถูกประหารชีวิตในที่สุด แต่ต่อมาทุกคนก็ทราบว่าเขาไม่มีความผิดเลยแม้แต่น้อย แต่ความทุกข์ทรมานที่เขาได้รับนั้น พระเจ้าทรงมอบให้เขา เพื่อชดเชยความผิดของคนอื่น โดยผู้รับใช้คนนั้นสมัครใจมอบกายถวายชีวิตของตนเพื่อรับโทษแทนคนอื่น เนื้อหาเรื่องนี้จะเชื่อมโยงและมีความชัดเจนขึ้นในพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะในพระวรสารนักบุญมาร์โกและมัทธิว (มก 10: 45, มธ 20: 28) ที่บอกว่าพระเยซูคริสตเจ้าเจ้าเสด็จมาเพื่อรับใช้ผู้อื่นและทรงมอบพระชนมชีพของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์ พระองค์ทรงทำให้บทบาทของ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ในหนังสืออิสยาห์เป็นความจริง นั่นคือการเป็นผู้รับใช้ที่ยอมตายเพื่อชดเชยแทนมนุษยชาติ เพื่อเป็นค่าไถ่และชำระหนี้ที่มนุษย์ทำไว้กับพระเป็นเจ้า ในพระวรสารนักบุญยอห์น (ยน 3: 17, 10: 10, 12: 47) มีการอธิบายภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าในฐานะผู้ช่วยให้รอดพ้น โดยพระองค์ทรงยอมสิ้นพระชนม์แทนมนุษยชาติ เพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากบาปและความตายและ คืนดีกับพระเจ้าดังเดิม มนุษย์จึงมีชีวิตสมบูรณ์ได้อีกครั้งหนึ่ง

ค. พระเยซูคริสตเจ้า ทรงอุทิศชีวิตของพระองค์อย่างอิสระเพื่อความรอด

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง อาศัยการสละชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้มนุษยชาติกลับสู่ภาวะที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าได้ พระเยซูคริสตเจ้าทรงถวายพระองค์เองอย่างอิสระเพื่อความรอดของมนุษยชาติ (CCC,1994: 621) ดังพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า “นี่คือกายของเรา ที่จะมอบเพื่อท่าน” (ลก 22: 19)

ง. การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการเสียสละเพื่อความรอดของมนุษยชาติในลักษณะ “ครั้งเดียว ตลอดกาล”

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการชดเชยบาป ทำให้มนุษยชาติกลับคืนดีกับพระเจ้า ทำให้แผนการกอบกู้มนุษยชาติสำเร็จไป การเสียสละของพระองค์มีเพียงครั้งเดียว แต่ครอบคลุมถึงมนุษยชาติทุกกาลสมัย

จ. การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการยืนยันและการสิ้นสุดความเป็นมนุษย์ของพระองค์

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นยืนยันถึงการเป็นมนุษย์ของพระองค์ ว่าพระองค์เป็นมนุษย์จริง ๆ และต้องประสบกับความตาย (การแยกกันของกายและวิญญาณ) ในขณะเดียวกันการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นการสิ้นสุดสภาวะการเป็นมนุษย์ของพระองค์ คงเหลือเฉพาะสภาวะการเป็นพระเจ้า

5.2.3 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า

การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ เป็นการเอาชนะบาปและความตาย และเป็นบ่อเกิดและที่มาของการกลับคืนชีพ (การเอาชนะบาปและความตาย) ของมนุษยชาติที่เชื่อและปฏิบัติตามคำสอนและแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า

ก. การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ โดยมีรากฐานจากการยืนยันจากสานุศิษย์ของพระองค์ (บรรดาอัครสาวก) ที่ได้มีประสบการณ์พบกันพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ (เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ)

ข. การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการเอาชนะบาปและความตาย

การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการยืนยันทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำและได้สั่งสอนว่าเป็นความจริง โดยมีพื้นฐานจากฤทธานุภาพของพระเจ้า ที่พระองค์ปรารถนาช่วยมนุษย์สู่ชีวิตที่สมบูรณ์ตามที่พระองค์สัญญาไว้ตั้งแต่พันธสัญญาเดิม

ค. การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นบ่อเกิดและที่มาของการคืนชีพของมนุษยชาติ

พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ (เอาชนะบาปและความตาย) เป็นบุคคลแรก อันเป็นที่มาและบ่อเกิดของการกลับคืนชีพของมนุษยชาติที่เชื่อและดำเนินตามแบบอย่างของพระองค์

5.2.4 การเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสตเจ้า

การเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและมีลักษณะพิเศษ เหนือธรรมชาติ อันเป็นความหวังของคริสตชนที่จะได้บรรลุถึงอาณาจักรสวรรค์กับพระองค์พระเยซูคริสตเจ้าเปรียบเป็น “ศีรษะ” เมื่อพระองค์ล่วงหน้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า บรรดาผู้มีความเชื่อในพระองค์ (ในฐานะเป็นเหมือนกัน “อวัยวะ” ) จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในความหวังว่าวันหนึ่งจะได้อยู่กับพระองค์ชั่วนิรันดร์

5.2.5 การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า

ถือเป็นวาระสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ (การสิ้นพิภพ) เป็นการยืนยันถึงชัยชนะของพระคริสตเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ

ก. คำสอนเรื่องการสิ้นโลก

สักวันหนึ่งในอนาคต โลกจะถึงจุดจบ (วันสิ้นโลก) คือ วาระที่พระเยซูคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาครั้งที่สอง

ข. การพิพากษามนุษยชาติตามแต่การดำเนินชีวิตของแต่ละคน

ในวาระของการสิ้นโลก พระเยซูคริสตเจ้าจะเสด็จมาพิพากษามนุษยชาติ และจะตอบแทนแก่มนุษย์แต่ละคน ตามแต่ความประพฤติของแต่ละบุคคล ถ้าเขาร่วมมือในแผนการแห่งความรอด (การเลือกพระเจ้าและดำเนินตามแนวทางของพระองค์) จะได้เข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า (การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) แต่ถ้าปฏิเสธหรือต่อต้าน (เลือกตนเองมาแทนที่พระเจ้า) เขาต้องประสบกับภาวะแห่งความพินาศ (การหมดสิทธิอย่างสิ้นเชิง) ที่จะได้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า

5.2.6 คำสอนเรื่องพระนางมารีอา

ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์ ให้ความสำคัญแก่พระนางมารีอา เนื่องด้วยพระเจ้าเลือกสรรพระนางมารีอาเป็นพิเศษ ให้เป็นมารดาของพระเยซู (พระเจ้าที่บังเกิดเป็นมนุษย์) ดังนั้นจึงมีคำสอนว่า (CCC,1994: 484 – 511)

ก. พระนางมารีอา พระมารดาของพระเจ้า

สืบเนื่องจากคำสอนที่ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าผู้บังเกิดเป็นมนุษย์ พระนางมารีอาจึงเป็น “พระมารดาของพระเจ้า” เนื่องจากพระนางมารีอาทรงเป็นพระมารดาของพระบุตร (พระเยซูคริสตเจ้า) ผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และทรงเป็นพระเจ้าพระองค์เอง

ข. พระนางมารีอา ผู้ปฏิสนธินิรมล

สืบเนื่องจากพระนางมารีอา ได้รับการเลือกสรรเป็นพิเศษให้เป็นมารดาของพระเจ้า มีผลทำให้พระนางเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน (พระพรพิเศษจากพระเจ้า) นับแต่วาระแรกของการปฏิสนธิ พระนางจึงได้รับพระพรพิเศษให้พ้นมลทินแห่งบาปกำเนิดโดยสิ้นเชิงและยังคงบริสุทธิ์ปราศจากบาปส่วนตัวทุกประการตลอดชีวิตของพระนาง จึงให้สมญาและประกาศเป็นข้อความเชื่อว่า พระนางมารีอา เป็นผู้ปฏิสนธินิรมล

ค. พระนางมารีอา พรหมจารี

สืบเนื่องจากการกำเนิดของพระเยซูคริสตเจ้า ที่คริสตชนว่าพระนางมารีอาทรงตั้งครรภ์ด้วยอานุภาพของพระเจ้า (โดยปราศจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศ) ที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจและความเป็นไปได้ของมนุษย์ เป็นความต่อเนื่องจากคำสอนว่าพระเยซูเป็นพระบุตร (พระเจ้า) ผู้บังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ด้วยอานุภาพของพระเจ้า จึงมีการยืนยันว่าพระนางมารีอา เป็นพรหมจารี เพราะความเป็นพรหมจารีของพระนางคือ เครื่องหมายแห่งความเชื่อในอานุภาพของพระเจ้า

ง. พระนางมารีอา แบบอย่างและมารดาของมนุษยชาติในการปฏิบัติตามแผนการแห่งความรอด

พระนางมารีอาเป็นตัวอย่างในการร่วมมือในแผนการช่วยมนุษย์ให้รอด ด้วยความเชื่อและการนบนอบอย่างอิสระในการตอบรับแผนการของพระเจ้าในชีวิตของตน พระนางได้กล่าวตอบรับในนามของมนุษยชาติทั้งมวลที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยยึดแผนการของพระเจ้าเป็นหลักมากกว่าที่จะยึดหลักการของตนเองในการมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ พระนางจึงเป็นมารดาของมนุษยชาติ (เอวาใหม่) ในการร่วมมือกับพระเจ้าที่จะพัฒนาตนสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ตามแผนการแห่งความรอด

6. หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระจิตและคำสอนที่เกี่ยวเนื่อง

ในบทสัญลักษณ์ของความเชื่อ ได้นำเสนอข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระจิตและคำสอนที่เกี่ยวเนื่องว่า “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระจิต พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล สหพันธ์นักบุญ การยกบาป การคืนชีพของเนื้อหนังและชีวิตนิรันดร” (ตามสำนวนสัญลักษณ์ของอัครสาวก) และ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระจิตทรงเป็นพระเจ้า ผู้บันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร ทรงรับสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระองค์ดำรัสทางประกาศก ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก ข้าพเจ้าประกาศยืนยันว่ามีศีลล้างบาปหนึ่งเดียวเพื่อยกบาป ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะคืนชีพและคอยชีวิตในภพหน้า” (ตามสำนวนบทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล) จึงสรุปหลักการความเชื่อบางประการเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพระจิตและคำสอนที่เกี่ยวเนื่องได้ดังนี้ (CCC,1994: 683 – 1060)

6.1 หลักคำสอนบางประการในการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระจิต (พระวิญญาณบริสุทธิ์)

คริสตชนเชื่อถึงพระจิตเจ้า (พระวิญญาณบริสุทธิ์) ในฐานะเป็นพระบุคคลที่สามในพระตรีเอกานุภาพ ทรงเป็นพระเจ้าร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดาและพระบุตร

6.1.1 พระจิตเจ้าในฐานะพระผู้ช่วยเหลือ

พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงถึงพระจิตเจ้า ในฐานะเป็นพระเจ้าผู้ช่วยเหลือมนุษยชาติให้มีความเชื่อและเข้าใจแผนการความรอดของพระเจ้า พระจิตเจ้าจึงเป็นผู้ดลใจและจุดความเชื่อในจิตใจของมนุษยชาติ พระจิตเจ้าทำให้เราเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า และกล้าเอ่ยนามพระเจ้าว่า “พระบิดา”

6.1.2 พระจิตเจ้า เป็นพื้นฐานและพละกำลังของชีวิตคริสตชน

ในพันธสัญญาเดิม พระจิตเจ้าได้รับฉายาว่า “ลมปราณของพระเจ้า” (พระบิดา) หมายถึงลมหายใจแห่งชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างเป็นพิเศษ จากการเผยแสดงของพระเยซู ทำให้คริสตชนเชื่อในคำสัญญาของพระองค์ว่าจะทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขาในรูปของจิต (จิตของพระเยซู จิตของพระเจ้า หรือ พระจิตเจ้า) อันเป็นพลังพื้นฐานของชีวิต คริสตชน ทำให้คริสตชนมีความเชื่อ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและสามารถเข้าใจแผนการของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น พัฒนาการของศาสนาคริสต์มีพื้นฐานของการเชื่อในการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า ในฐานะเป็นพลังภายในที่ช่วยให้คริสตชนติดตามพระเยซูคริสตเจ้าได้ใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้น

6.1.3 พันธกิจร่วมของพระบุตรและพระจิต

ก. ในการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตร พันธกิจที่พระบุตรทรงกระทำในการเผยแสดงพระเจ้า พระจิตเจ้ามีบทบาทร่วมด้วยเสมอ ทรงรับรองและทำให้พันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้าสำเร็จไป พันธกิจของพระบุตรและพระจิตจึงเชื่อมโยงกันเสมอ

ข. เมื่อพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์แล้ว ระหว่างรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เป็นบทบาทของพระจิตเจ้าที่สืบเนื่องพันธกิจของพระบุตรในแผนการแห่งความรอด เพื่อช่วยมนุษยชาติบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์

6.1.4 พระจิตเจ้า พระผู้บันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์

พระจิตเจ้าได้รับสมญานามว่า “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์” หมายถึงบทบาทของพระจิตเจ้าในการบันดาลให้มนุษยชาติที่มีความเชื่อในพระเจ้าได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถบรรลุถึงชีวิตนิรันดรในพระเจ้า พระจิตเจ้าจึงทรงมีบทบาทในการเตรียมการ การร่วมดำเนินการและการสานต่อเพื่อให้มนุษยชาติได้กลับคืนดีกับพระเจ้า มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าโดยการบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ (ชีวิตนิรันดร) ในพระเจ้าตามแผนการแห่งความรอดพ้น

6.2 คำสอนที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายพระเจ้าในฐานะพระจิต

นอกจากการอธิบายคำสอนเรื่องพระจิตเจ้าแล้ว ยังมีคำสอนที่เกี่ยวข้องกับพระจิต ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญกับพระศาสนจักร สหพันธ์นักบุญ การยกบาป การคืนชีพและชีวิตนิรันดร

6.2.1 พระศาสนจักร : เป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก

พระศาสนจักร เป็นผลงานของพระเจ้า (พระตรีเอกภาพ) เพื่อความรอดของมนุษยชาติ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงยืนยันถึงลักษณะสำคัญของตน คือ ความเป็นหนึ่งเดียว มีความศักด์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก ในฐานะเป็นเครื่องมือของพระเจ้าตามแผนการแห่งความรอด

ก. ความหมายและสัญลักษณ์ของพระศาสนจักร

1) ความหมายของคำว่า “พระศาสนจักร”

1.1) คำว่า “พระศาสนจักร” (Church) หมายถึง การเรียกประชุม ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีการใช้คำดังกล่าว หมายถึงการชุมนุมกันของประชาชนในเรื่องทางศาสนา เป็นการชุมนุมกันของประชาชนที่ได้รับเลือกสรรต่อพระพักตร์พระเจ้า

1.1.1) ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่เขียนเป็นภาษากรีก มีการใช้คำว่า “Ek-kalein” โดยเฉพาะในการชุมนุมกันที่ภูเขาซีนาย ที่ชาวอิสราเอลได้รับพระบัญญัติและได้รับการสถาปนาให้เป็นประชากรของพระเจ้า

1.1.2) คริสตชนเรียกตนเองว่า “พระศาสนจักร” เพราะสำนึกว่าตนเองเป็นทายาทของชุมนุมประชากรของพระเจ้า ที่สืบเนื่องจากชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิม

1.2) นอกจากนั้น ในภาษาของคริสตชน คำว่า “พระศาสนจักร” ยังหมายถึง

1.2.1) การชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรม

1.2.2) ชุมชนท้องถิ่น

1.2.3) ชุมชนของผู้มีความเชื่อที่กระจัดกระจายกันทั่วโลก

1.3) จึงสรุปได้ว่า “พระศาสนจักร” หมายถึง ประชากรที่พระเจ้าทรงรวบรวมเข้าด้วยกันทั่วโลก ที่ประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่นทั้งหลาย ที่เป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสตเจ้า

2) สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร

ในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะจากบทจดหมายของนักบุญเปาโล มักเปรียบเทียบว่าพระเยซูคริสตเจ้าเป็น “ศีรษะ” ของพระศาสนจักร และพระศาสนจักรเป็นดัง “พระกาย” ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการย้ำถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระเยซูคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร

ข. บ่อเกิด การก่อตั้งและพันธกิจของพระศาสนจักร

คริสตชนเชื่อว่าพระศาสนจักรเป็นผลงานร่วมกันของพระตรีเอกภาพ โดย

1) พระบิดาเป็นผู้ให้กำเนิดพระศาสนจักร กล่าวคือ

1.1) เป็นแผนการ (โครงการ) ของพระบิดาที่ปรารถนาให้มนุษยชาติบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ตั้งแต่เริ่มต้นแผนการแห่งความรอด

1.2) พระบิดาทรงเริ่มต้นพระศาสนจักรตั้งแต่ในยุคพันธสัญญาเดิม ด้วยการเลือกชาวอิสราเอลให้เป็นประชากรของพระองค์ และโดยทางพระเยซู (ในพันธสัญญาใหม่) การเป็นประชากรของพระเจ้าได้สืบต่อมายังมนุษย์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันในความเชื่อต่อพระเยซู

2) พระบุตร เป็นผู้ก่อตั้งพระศาสนจักร กล่าวคือ

2.1) แผนการแห่งความรอดของพระบิดาสำเร็จโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า ที่ทรงประกาศสอนและมอบวิธีการบรรลุถึงอาณาจักรของพระเจ้า

2.2) พระเยซูคริสตเจ้าทรงวางโครงสร้างและดำรงอยู่ในชุมชนที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นเพื่อให้แผนการแห่งความรอดสำเร็จบริบูรณ์ไป ชุมชนที่พระองค์ตั้งขึ้นประกอบด้วยสาวกทั้งสิบสองซึ่งเป็นตัวแทนสิบสองเผ่าของชาวอิสราเอล สาวกทั้งสิบสองเป็นรากฐานของประชากรที่พระเจ้าทรงสถาปนาขึ้นใหม่ให้เป็นประชากรของพระองค์

3) พระจิต ทรงทำให้พระศาสนจักรปรากฏเป็นจริงขึ้นมา กล่าวคือ

3.1) สืบเนื่องจากคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ที่ทรงสัญญาจะประทานจิตของพระองค์ (จิตของพระเจ้า) แก่เหล่าอัครสาวก ซึ่งเป็นชุมชนที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเลือกให้เป็นประชากรชุดใหม่ของพระเจ้า บรรดาอัครสาวกต่างสำนึกถึงการประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้าท่ามกลางพวกเขาในรูปแบบของ “พระจิต” ที่ทรงดำรงอยู่ นำทางและประทานพระพรในภารกิจของประชากรที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้น (พระศาสนจักรที่สืบต่อและมีอัครสาวกเป็นรากฐาน)

3.2) พระจิตเจ้าทรงกำหนดทิศทางในพระศาสนจักร อาศัยความหลากหลายในพระพรของพระเจ้าที่ประทานแก่พระศาสนจักรโดยเฉพาะในรูปแบบของฐานานุกรม และจากพระพรพิเศษต่าง ๆ ที่พระจิตประทานแก่พระศาสนจักร

3.3) พระศาสนจักรตระหนักถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสตเจ้าภายใต้การนำของพระจิต ในการประกาศข่าวดีแห่งความรอด ตั้งใจรักษาคำสอนที่ได้รับจากพระเยซูผ่านทางอัครสาวกอย่างซื่อสัตย์ เพื่อสานต่อภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าตามแผนการแห่งความรอด

ค. พระศาสนจักรในฐานะเป็นธรรมล้ำลึก (Mystery)

แม้ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ตั้งพระศาสนจักรในประวัติศาสตร์ แต่พระศาสนจักรก็อยู่เหนือประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะพระศาสนจักรมีจุดกำเนิดจากพระเจ้าและมีไว้ปฏิบัติภารกิจตามแผนการแห่งความรอดของพระองค์

1) พระศาสนจักรมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้และเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ

พระศาสนจักรมีสองลักษณะ คือ ลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้ (ความเป็นสถาบัน) และลักษณะภายในที่ต้องอาศัยความเชื่อ กล่าวคือ

1.1) พระศาสนจักรเป็นสถาบันในสังคมที่ประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายตามโครงสร้างของพระศาสนจักร มีกิจกรรมร่วมกันในสังคมและยังเป็นชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวโดยมีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพื้นฐาน (เปรียบดังเป็นพระกายของพระเยซูคริสตเจ้า)

1.2) พระศาสนจักรมีอยู่ เติบโต ก้าวหน้าในประวัติศาสตร์และยังเป็นชุมชนที่เปี่ยมด้วยพระพรของพระเจ้า ที่มีภารกิจมุ่งสู่อาณาจักรของพระเจ้า

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระศาสนจักรเป็นการร่วมมือกันระหว่างสององค์ประกอบที่ซ้อนกัน คือ เป็นผลงานของพระเจ้าอาศัยความร่วมมือของมนุษย์ ในการมุ่งหน้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า

2) พระศาสนจักรเป็นเครื่องหมายสากลแห่งความรอดพ้น (Sacrament)

เนื่องจากพระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรตามแผนการของพระบิดา และประทับอยู่ในพระศาสนจักรโดยทางพระจิต พระศาสนจักรจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า (พระตรีเอกภาพ) ดังนั้น

2.1) พระศาสนจักรจึงเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ

2.2) พระศาสนจักรยังเป็นเครื่องหมายของความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ ในฐานะที่มนุษยชาติได้รับการเชื้อเชิญให้บรรลุถึงถึงชีวิตนิรันดร

จึงกล่าวได้ว่า พระศาสนจักรเป็นสื่อกลางแห่งพระพรของพระเจ้าที่พระเยซูคริสตเจ้าประทานพระพรแก่พระศาสนจักร เพื่อความรอดของมนุษยชาติ

ง. คุณลักษณะของพระศาสนจักร คือ ความเป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบเนื่องจากอัครสาวก

พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระศาสนจักรขึ้น ทรงโปรดให้พระศาสนจักรมีคุณลักษณะสำคัญสี่อย่าง คือ

1) พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียว

พระศาสนจักรมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน และมีความเชื่อที่เป็นหนึ่งเดียวกัน กล่าวคือ

1.1) ต้นกำเนิดของพระศาสนจักร คือ พระเจ้า พระศาสนจักรเป็นผลงานของพระบิดา พระบุตรและพระจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

1.2) แม้ว่าพระศาสนจักรประกอบด้วยสมาชิกที่หลากหลาย ทั้งด้านภาระหน้าที่ สภาพฐานะ วิธีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการเผชิญหน้ากับค่านิยมในยุคสมัยต่าง ๆ อยู่เสมอ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร เพราะพระศาสนจักรซื่อสัตย์ในเรื่องต่อไปนี้

1.2.1) การยืนยันความเชื่อเดียวกัน ซึ่งได้รับจากอัครสาวก
1.2.2) การร่วมเฉลิมฉลองพิธีสักการะพระเจ้าร่วมกัน
1.2.3) การสืบทอดจากอัครสาวกอย่างซื่อสัตย์

1.3) ปัญหาความแตกแยกในพระศาสนจักร

ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร พบว่ามีการแยกตัวออกเป็นชุมชน (นิกาย) ต่าง ๆ ด้วยเหตุผลนานาประการ แต่สิ่งที่พระศาสนจักรคำนึงถึงคือ บรรดาคริสตชนที่แยกตัวออกเป็นชุมชน (นิกาย) ต่าง ๆ และยังคงมีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า (ผ่านการรับพิธีล้างบาป)พระศาสนจักรยังคงให้ความเคารพ ยังถือว่าพวกเขาเป็นคริสตชนที่ถูกต้องและเป็นเพื่อนพี่น้องกับคริสตชนทั้งหลาย และยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังตระหนักถึงความเมตตาของพระเจ้าที่ประทานพระพรเพื่อให้มนุษยชาติบรรลุถึงความรอด ซึ่งพระศาสนจักรต้องเรียนรู้แผนการของพระเจ้าในพี่น้องคริสตชนทั้งหลายและพยายามสานสัมพันธ์สู่การเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างจริงจังโดย

1.3.1) การฟื้นฟูพระศาสนจักรอยู่เสมอ เพื่อให้ตรงกับคำสอนของพระเยซู

1.3.2) การกลับใจ สำนึกตนและเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าให้มากยิ่งขึ้น

1.3.3) การภาวนาร่วมกัน เพื่อวอนขอพระเจ้าโปรดให้พระศาสนจักรมีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง

1.3.4) การเสวนา การให้การอบรมและให้ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ รวมถึงการพบปะเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคริสตชนทั่วโลก

2) พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์

คริสตชนเชื่อว่าพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์เนื่องจาก

2.1) พระศาสนจักรเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ และพระเจ้าประทับอยู่ในพระศาสนจักร เพื่อทำให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ มีพลังและมีชีวิตชีวา

2.2) มีสมาชิกของพระศาสนจักรที่ได้บรรลุถึงชีวิตนิรันดรในพระเจ้า ได้แก่พระนางมารีอาและบรรดานักบุญทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลผลิตจากความศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานแก่พระศาสนจักร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิกของพระศาสนจักรยังประกอบด้วยผู้ดำเนินชีวิตบนโลก ที่ยังมีข้อบกพร่องมากมาย ถึงกระนั้น พระศาสนจักรยังคงเป็นประชากรของพระเจ้า ทำให้พระศาสนจักรมีความศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยพระพรแห่งความรอดที่พระเจ้าประทานให้ จึงเรียกร้องให้สมาชิกพระศาสนจักรที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกมีความซื่อสัตย์และปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างจริงจัง

3) พระศาสนจักรเป็นสากล

คำว่า “คาทอลิก” แปลว่า “สากล” หมายถึงส่วนรวมทั้งหมด หรือบูรณาการ พระศาสนจักรเป็นคาทอลิก (สากล) มีความหมายซ้อนกันสองประการคือ พระศาสนจักรส่วนรวมและพระศาสนจักรท้องถิ่น (ชุมชนคริสตชนในท้องถิ่นต่างๆ )

3.1) ในภาพรวมของพระศาสนจักรทั่วโลก ถือว่าพระศาสนจักรเป็นคาทอลิก (สากล) เพราะพระเยซูคริสตเจ้าประทับอยู่ภายในพระศาสนจักร เป็นการย้ำถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระศาสนจักรกับพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรคาทอลิกได้รับหนทางแห่งความรอดทางพระเยซูคริสตเจ้าสืบเนื่องจากอัครสาวก

3.2) ในชุมชนคริสตชนทั่วโลกที่ประกอบกันเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่น ถือว่า พระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้เป็นคาทอลิก (สากล) เพราะพระเยซูคริสตเจ้าทรงสั่งให้ไปประกาศข่าวดีแห่งความรอดแก่มนุษยชาติทั่วโลก มนุษยชาติทุกคนจึงมีสิทธิได้เป็นประชากรของพระเจ้า เพราะพระเจ้ามีพระประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนบรรลุถึงชีวิตนิรันดร

จากการที่พระเยซูคริสตเจ้าสั่งให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศข่าวดีแห่งความรอดแก่มนุษยชาติ ส่งผลให้ประชากรของพระเจ้ามีอยู่ทั่วโลก พระศาสนจักรท้องถิ่นในที่ต่าง ๆ ที่คริสตชนมีความเชื่อเป็นหนึ่งเดียวกันและมีพิธีกรรมอันสืบเนื่องจากอัครสาวก พระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านั้นก็เป็นคาทอลิก (สากล) โดยอาศัยความเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ซึ่งถือว่าเป็นพระศาสนจักรอันดับหนึ่งในพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งหลาย

นอกจากนั้น พระศาสนจักรยังให้ความเคารพแก่มนุษยชาติที่มีความเชื่อต่างกัน โดยถือว่าพระเจ้าปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนบรรลุถึงชีวิตนิรันดร จึงให้ความเคารพ ให้เกียรติในการแสวงหาความจริงของชีวิตตามรูปแบบของแต่ละศาสนา

4) พระศาสนจักรสืบเนื่องจากอัครสาวก

พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรโดยมีอัครสาวกเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีความหมายสามลักษณะ คือ

4.1) พระศาสนจักรถูกสร้างขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบันโดยมีพื้นฐานอยู่ที่บรรดาอัครสาวก

4.2) พระศาสนจักรรักษาและถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับจากพระเยซูคริสตเจ้าผ่านทางอัครสาวก อาศัยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า

4.3) พระศาสนจักรยังคงได้รับคำสั่งสอนและได้รับการแนะนำจากอัครสาวกต่อไปจนกว่าพระเยซูคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้โดยอาศัยผู้ปฏิบัติงานสืบต่อจากอัครสาวก ได้แก่บรรดามุขนายก (พระสังฆราชคาทอลิก) ซึ่งมีบรรดาศาสนบริกรสงฆ์เป็นผู้ช่วย โดยการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร (มุขนายกแห่งโรม)

จ. โครงสร้างและสมาชิกของพระศาสนจักร

พระศาสนจักรเป็นประชากรของพระเจ้า มีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิกสามสถานภาพ ได้แก่ ผู้ที่กำลังดำเนินชีวิตบนโลก ผู้ที่บรรลุถึงชีวิตนิรันดรแล้ว (บรรดานักบุญ) และผู้ที่กำลังชำระตนเพื่อบรรลุถึงชีวิตนิรันดร

1) สมาชิกที่กำลังดำเนินชีวิตบนโลก : โครงสร้างของพระศาสนจักรบนโลก

สมาชิกของพระศาสนจักรที่กำลังดำเนินชีวิตในโลก หมายถึง ผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและแสดงออกด้วยการรับพิธีล้างบาปในนามของพระบิดา พระบุตรและพระจิต โดยในแต่ละวันพยายามดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ที่ให้หลักการดำเนินชีวิตมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าทรงจัดตั้ง มอบอำนาจหน้าที่และพันธกิจให้พระศาสนจักรมีส่วนร่วมในภารกิจการเป็นประกาศก สงฆ์และกษัตริย์ร่วมกับพระองค์ จากแนวปฏิบัติของพระเยซูคริสตเจ้าที่สืบเนื่องทางอัครสาวกได้แบ่งโครงสร้างของพระศาสนจักรในรูปแบบของฐานันดร ตามลำดับต่อไปนี้

1.1) ศาสนบริกรฝ่ายสงฆ์ : การเป็นผู้แทนของพระเยซูคริสตเจ้าในโลก

หมายถึงสมาชิกของพระศาสนจักรที่ได้รับพิธีล้างบาปและพิธีบวช เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรเป็นพิเศษและผ่านการรับรองจากพระศาสนจักรให้ปฏิบัติภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าโดยตรง ในการประกาศข่าวดีแห่งความรอด

ศาสนบริกรฝ่ายสงฆ์ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงแต่งตั้งสานุศิษย์ใกล้ชิด 12 ท่าน (อัครสาวกทั้งสิบสอง) ให้อยู่กับพระองค์อย่างใกล้ชิดและถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีแห่งความรอดโดยมีนักบุญเปโตรเป็นหัวหน้าและบรรดาอัครสาวกได้ถ่ายทอดมายังผู้สืบตำแหน่งของพวกท่าน ต่อมา บรรดาผู้สืบตำแหน่งของอัครสาวกในรุ่นต่อ ๆ มาได้แต่งตั้ง ศาสนบริกรสงฆ์และสังฆานุกรให้เป็นผู้ช่วยในภารกิจการประกาศข่าวดีแห่งความรอด และค่อย ๆ พัฒนาสู่การเป็นศาสนบริกรสงฆ์ในปัจจุบัน โดยมีบทบาทหน้าที่ในการประกาศสอน การทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (การประกอบพิธีกรรม) และการปกครองดูแลคริสตชน ดำเนินชีวิตตามแบบพระเยซูคริสตเจ้าด้วยการถือโสด ยากจนและนบนอบเชื่อฟังผู้ใหญ่ของพระศาสนจักร (มุขนายกและพระสันตะปาปา)

1.2) ฆราวาส (สัตบุรุษ) : ผู้ได้รับการเชื้อเชิญสู่ความรอดพ้น

หมายถึงสมาชิกของพระศาสนจักรที่ได้รับพิธีล้างบาป มีส่วนร่วมในภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าภายใต้การนำของศาสนบริกรสงฆ์

ฆราวาส (หรือสัตบุรุษ) เป็นผู้ดำเนินชีวิตในกิจธุระต่าง ๆ ในโลก โดยนำหลักคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยการทำกิจการงานต่าง ๆ ในโลกให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในสังคม ฆราวาส (สัตบุรุษ) มีส่วนร่วมในพิธีกรรม การดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดีและการพยายามเอาชนะความบกพร่องของตนเองรวมถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมและพระศาสนจักร

1.3) ชีวิตที่ถวายตนเองแด่พระเจ้า : ผู้ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร

หมายถึง คริสตชนที่ได้รับพิธีล้างบาป ไม่ได้รับพิธีบวช แต่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าและผ่านการรับรองของพระศาสนจักร ให้ปฏิญาณตนอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินชีวิตติดตามพระเยซูคริสตเจ้าแบบเข้มข้นด้วยการถือโสด ความยากจนและการนบนอบเชื่อฟัง ด้วยการเข้าสังกัดคณะนักบวชคณะใดคณะหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากพระสันตะปาปา โดยแบ่งกว้างๆ ได้ดังนี้

1.3.1) ชีวิตฤาษี หมายถึงผู้ถอนตัวออกจากสังคม ไปดำเนินชีวิตด้วยความเงียบสงัด หมั่นอธิษฐานภาวนา อุทิศตนเพื่อสรรเสริญพระเจ้าและความรอดของมนุษยชาติ

1.3.2) ชีวิตนักบวชชาย-หญิง หมายถึงผู้ที่ร่วมกันดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะคริสตชนแบบเข้มข้น ในการทำงานรับใช้พระศาสนจักรและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ตามสถานภาพและพระพรพิเศษที่พระเจ้าประทานให้

1.3.3) ชีวิตนักพรต หมายถึง ผู้ที่ดำเนินชีวิตในสถาบัน (อาราม) ที่จัดตั้งตามแนวทางของพระศาสนจักร เพื่อบำเพ็ญพรตเป็นหมู่คณะคริสตชน

นอกจากนั้น คริสตชนยังมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถาบันฆราวาส สมาคมต่างๆ ภายใต้การรับรองของพระสันตะปาปา เพื่อร่วมกันเผยแผ่ข่าวดีแห่งความรอดในรูปแบบต่างๆ

2) สมาชิกของพระศาสนจักรที่บรรลุถึงความรอดแล้ว : บรรดานักบุญ

นักบุญเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรที่บรรลุถึงความรอด (บรรลุถึงชีวิตนิรันดรในพระเจ้าแล้ว) หมายถึง สมาชิกของพระศาสนจักรที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระเยซูคริสตเจ้า และได้สิ้นชีวิตในโลกแล้ว และพระศาสนจักรรับรองว่าพวกท่านได้ดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์และมั่นใจ (ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า) ว่าพวกท่านได้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าแล้ว โดยเรียกพวกท่านว่าผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือบรรดานักบุญ ในฐานะที่พวกท่านได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า” บรรลุถึงชีวิตนิรันดร (ซึ่งเป็นเป้าหมายของชีวิตคริสตชน) แล้ว

คริสตชนเชื่อในความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างบรรดานักบุญกับสมาชิกพระศาสนจักรที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก โดยมีความเชื่อว่า

2.1) บรรดานักบุญซึ่งได้อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้าคอยช่วยเสนอวิงวอนเพื่อสมาชิกของพระศาสนจักรที่ยังดำเนินชีวิตในโลก โดยพวกท่าน “ช่วยประสานงาน” กับพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ

2.2) พระศาสนจักรให้ความเคารพบรรดานักบุญและส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพวกท่าน ในการปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าจนบรรลุถึงชีวิตนิรันดร

3) สมาชิกของพระศาสนจักรที่กำลังชำระตน

สมาชิกของพระศาสนจักรที่กำลังชำระตน หมายถึง บรรดาผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและได้สิ้นชีวิตในโลกนี้แล้ว ระหว่างมีชีวิตอยู่ได้ดำเนินชีวิตอย่างดีแต่ยังต้องชำระตนให้เหมาะสมต่อการบรรลุถึงพระเจ้าตามลำดับต่อไป โดยพระศาสนจักรเชิญชวนให้แผ่บุญกุศล ระลึกถึงพวกท่านเหล่านั้นอาศัยการภาวนา พิธีบูชาขอบพระคุณ การทำทาน ฯลฯ เพื่อพวกท่านจะได้บรรลุถึงชีวิตนิรันดร (พระเจ้า)

6.2.2 คำสอนเรื่องการอภัยบาป

ก. พื้นฐานและความหมายของการอภัยบาป

มนุษย์ต้องบริสุทธิ์จากบาปหรือความบกพร่องทั้งมวล เพื่อบรรลุถึงชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความดีและความสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่มนุษย์ไม่สามารถช่วยตนเองให้คู่ควรกับพระเจ้าได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า การอภัยบาปของพระเจ้าในข้อบกพร่องต่าง ๆ ในชีวิต คริสตชนจึงผนวกความเชื่อเรื่องการยกบาปกับความเชื่อในพระจิตเจ้าที่ประทานอำนาจการอภัยบาปแก่พระศาสนจักร (โดยมีอัครสาวกเป็นผู้รับมอบ) โดยมีพื้นฐานจากพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ที่ว่า “จงรับพระจิตเถิด ถ้าท่านจะยกความผิดบาปของผู้ใด ความผิดบาปนั้นก็จะถูกยกเสีย” (ยน 20: 22 – 23)

ข. พระเยซูคริสตเจ้ามอบอำนาจอภัยบาปแก่อัครสาวกและผู้สืบทอด

พระเยซูคริสตเจ้าทรงเชื่อมโยงการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและการรับพิธีล้างบาป พระองค์ทรงมอบภารกิจให้อัครสาวกในการประกาศข่าวดีแห่งความรอดและประทานอำนาจอภัยบาปให้พวกท่าน ภายใต้อำนาจของพระจิตเจ้าที่พระองค์ประทานแก่อัครสาวก ภายใต้เงื่อนไขของความสำนึกผิดในข้อบกพร่อง กลับใจและมีความเชื่อในพระเจ้า “เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน ผู้ใดเชื่อและรับพิธีล้างบาปก็จะรอด” (มก 16: 15 – 16)

บรรดาอัครสาวกได้ปฏิบัติตามและได้มอบอำนาจที่ได้รับจากพระเยซูคริสตเจ้ามายังผู้สืบทอด ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า โดยผ่านทางผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก (ศาสนบริกรสงฆ์ของพระศาสนจักร) เป็นเครื่องมือแห่งการอภัยบาปในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ในรูปแบบของพิธีล้างบาปและพิธีอภัยบาป

6.2.3 คำสอนเรื่องความตายและการคืนชีพของร่างกาย

ก. คำสอนเรื่องความตาย

1) ความหมายของความตาย

คริสตชนเชื่อว่ามนุษย์เกิดหนเดียว ตายหนเดียว ความตายคือการแยกกันของร่างกายและวิญญาณ อันเป็นการสิ้นชีวิตบนโลกหรือจุดจบของชีวิตบนแผ่นดิน และต้องกลับไปเผชิญหน้ากับพระเจ้าเพื่อตอบแทนตามผลการดำเนินชีวิตของตน

2) ความตายร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้า

แม้ว่าคริสตชนเชื่อว่าความตายเป็นผลสืบเนื่องจากบาปกำเนิด เนื่องจากมนุษย์ใช้เสรีภาพเลือกตนเอง มาแทนที่พระเจ้า แต่กระนั้นสิ่งที่คริสตชนให้ความสำคัญคือ การมีส่วนร่วมในความตายกับพระเยซูคริสตเจ้า ที่ทำให้ความตายมีคุณค่าในฐานะเป็นหนทางที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบเพื่อพบกับพระเจ้า โดยผ่านทางความเชื่อที่ผูกพันคริสตชนเข้าร่วมชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าด้วยความเชื่อและปฏิบัติตามแบบอย่างชีวิตของพระองค์ โดยการตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าเพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ อาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า

ข. คำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย

1) ความหมายของการกลับคืนชีพ

คริสตชนเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย อันเป็นผลจากการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้คริสตชนเชื่อว่าหลังจากจบชีวิตบนโลกนี้แล้ว (การแยกกันของกายและวิญญาณ) วิญญาณจะไปพบกับพระเจ้าและรอคอยวาระการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า ที่มนุษยชาติจะได้กลับคืนชีพ มนุษย์จะมีร่างกายใหม่ที่รุ่งเรืองเหมือนพระเยซูคริสตเจ้า กาย (ใหม่) และวิญญาณจะรวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

2) การคืนชีพพร้อมกับพระเยซูคริสตเจ้า

คริสตชนมีความหวังว่า ในวาระของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า มนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพ โดยมีความเชื่อว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ ปฏิบัติตนตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้าจะได้กลับคืนชีพร่วมกับพระองค์

3) การให้ความเคารพต่อร่างกาย

คริสตชนให้ความเคารพต่อร่างกายของตนเองและคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อเจ็บปวดทรมาน ที่เรียกร้องให้ดูแลเอาใจใส่ร่างกายของบุคคลและใช้ร่างกายเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า

6.2.4 คำสอนเรื่องชีวิตหลังความตายและการพิพากษาของพระเจ้า

ก. คำสอนเรื่องชีวิตหลังความตาย

คริสตชนเชื่อพระเจ้าสัญญาที่จะประทานชีวิตนิรันดรแก่ทุกคน ที่ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า พระองค์จะบันดาลให้บรรลุถึงความชิดสนิท เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ อันทำให้มนุษย์สามารถบรรลุจุดหมายชีวิตในการมีชีวิตที่สมบูรณ์ คำสอนเรื่องการรับผิดชอบต่อผลการดำเนินชีวิตของแต่ละคนแยกได้สามภาวะ คือ

1) สวรรค์

สวรรค์หมายถึง ภาวะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า สำหรับผู้ที่ดำเนินชีวิตตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ตามแผนการแห่งความรอดที่พระองค์ประทานแก่มนุษยชาติ เป็นภาวะของการบรรลุถึงชีวิตนิรันดรที่พระเจ้าสัญญาจะประทานให้

2) การชำระตน (ไฟชำระ)

หมายถึงภาวะของการชำระตน เพื่อความเหมาะสมในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า เนื่องจากผู้นั้นยังไม่ได้ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมเพียงพอต่อการบรรลุถึงพระเจ้า จึงต้องมีการชำระตนให้เหมาะสมต่อการบรรลุถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

3) นรก

หมายถึงภาวะของผู้ที่ปฏิเสธที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ปฏิเสธแผนการแห่งความรอด เมื่อจบชีวิตในโลก เขาจะถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง เป็นภาวะของความพินาศอย่างสิ้นเชิงสำหรับผู้ปฏิเสธแผนการแห่งความรอด

ข. การพิพากษาของพระเจ้า

คริสตชนเชื่อว่า หลังจากจบชีวิตบนโลกนี้แล้ว มนุษย์ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับพระเจ้า เพื่อให้พระเจ้าพิพากษาแต่ละคนตามการประพฤติปฏิตนตนของแต่ละคน โดยแบ่งการพิพากษาออกเป็นสองลักษณะคือ

1) การพิพากษาแต่ละบุคคล หมายถึงการที่พระเจ้าพิพากษาแต่ละบุคคลหลังการสิ้นชีวิตบนโลก

2) การพิพากษาครั้งสุดท้าย หมายถึง การพิพากษาของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ในวาระของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า

7. สรุป “หลักคำสอนฯ” ด้วยคำว่า “อาแมน”

คำสุดท้ายที่ระบุในสัญลักษณ์แห่งความเชื่อทั้งสองสำนวน คือ คำว่า “อาแมน” หมายถึงการตอบรับในความเชื่อของคริสตชนว่าเชื่อในสิ่งที่พระเยซูคริสตเจ้าสอนโดยผ่านทางอัครสาวกในพระศาสนจักรของพระองค์ เป็นการย้ำถึงเอกลักษณ์ความเชื่อของคริสตชนที่มอบความไว้วางใจในพระเจ้า ไว้วางใจในพระเมตตาและความรักของพระองค์ที่ทรงสัญญาจะประทานชีวิตนิรันดร “ฟ้าใหม่ แผ่นดินใหม่” แก่ผู้ที่ดำเนินชีวิตตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าตามแผนการแห่งความรอด อันแสดงถึงความเชื่อของคริสตชนในคำสอนที่พระเจ้าเผยแสดงแก่มนุษยชาติทางพระเยซูคริสตเจ้า และพระองค์ทรงมอบแก่อัครสาวกและผู้สืบทอด ภายใต้การประทับอยู่ของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักรของพระองค์.. อาแมน